ซีเซียม 137 เป็นสารกัมมันตรังสี ที่มีลักษณะโลหะอ่อนมาก สีทองเงิน เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง แต่มักจะจับตัวกับคลอไรด์กลายเป็นผงผลึก ปล่อยรังสีเบต้า และแกมม่า ใช้ในโรงงาน นอกจากนี้ ยังใช้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์รักษามะเร็ง
อันตรายจากการสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137
สำหรับอันตรายจากการสัมผัสสารกัมมันตรังสี กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า อันตรายจากการสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 ได้รับอันตรายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของรังสี ชนิดของรังสีที่ได้รับ
อาการที่พบเมื่อสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137
เมื่อสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 อาการที่พบคือ
- ไข้
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- ถ่ายเหลว
- ผิวหนังบริเวณที่โดนรังสีจะเกิดแผลไหม้พุพอง
ในกรณีสัมผัสปริมาณมาก ส่งผลกระทบต่อระบบเลือด กดไขกระดูก ระบบประสาท ชักเกร็ง และอาจเสียชีวิตได้
ข้อควรปฏิบัติหลังการสัมผัส ซีเซียม 137
- ลดการปนเปื้อน โดยล้างตาให้น้ำไหลผ่านจากหัวตาไปทางหางตาด้วยน้ำสะอาด ล้างมือ อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้า ใส่ถุงปิดป่ากให้สนิทเพื่อตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรีงสีหรือไม่
- ไปลงทะเบียนยังหน่วยงานที่กำหนด ให้มีการจัดทำทะเบียนผู้สัมผัสหรืออยู่ในเหตุการณ์เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพและควบคุมการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี
- ห้ามหยิบจับวัตถุทุกชนิด ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามนำมือสัมผัสบริเวณภายในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ได้กำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่อันตราย
การป้องกันและการปฏิบัติตน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารกัมมันตรังสีหรือกล่องเหล็กต้องสงสัย
- ถ้าอยู่ในที่เกิดเหตุให้ไปลงทะเบียนผู้สัมผัสสารกัมมันตรังสียังหน่วยงานที่กำหนด
- รวบรวมสิ่งของหรือเสื้อผ้าที่คาดว่าอาจมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบก่อนนำไปใช้
- ควรล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม
- ติดตามข้อมูลสถานการณ์การเกิดเหตุ และปฏิบัติตามประกาศอย่างเคร่งครัด
Post Views: 47