เชิญชวนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ความรู้วันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิถุนายน

|

องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งน้ำวน รณรงค์ประชาสัมพันธ์ความรู้วันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิถุนายน ความสำคัญเนื่องในวันยาเสพติดโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงโทษของยาเสพติด และการแก้ปัญหา ดังนี้

  1. เพื่อให้ประชาชน ชุมชน เยาวชน และหน่วยงานภาคี รับรู้และเห็นถึงความสำคัญของวันต่อต้านยาเสพติด ในการที่จะร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด
  2. เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังความสามัคคีของคนในชาติ ที่ร่วมเป็น “พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด”
  3. เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายในทุกภาคส่วนของสังคมเกิดความตระหนักถึงภัยจากยาเสพติดและเข้าร่วมในการ แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อการเอาชนะยาเสพติดให้ได้ผลอย่างยั่งยืน
  4. เพื่อให้วันที่ 26 มิถุนายน เป็นวันที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของการผนึกกำลังของคนในชาติ เพื่อร่วมแก้ไข ปัญหายาเสพติดให้หมด

ความรู้เกี่ยวกับโทษยาเสพติด
ยาเสพติด หมายถึง สารใดก็ตามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือสารที่สังเคราะห์ขึ้น เมื่อนำเข้าสู้ ร่างกายไม่ว่าจะโดยวิธีรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยวิธีการใด ๆ แล้ว ทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ยังจะทำให้เกิดการเสพติดได้ หากใช้สารนั้นเป็นประจำทุกวัน หรือวันละหลาย ๆ ครั้ง ลักษณะสำคัญของสารเสพติด จะทำให้เกิดอาการ และอาการแสดงต่อผู้เสพดังนี้
๑. เกิดอาการดื้อยา หรือต้านยา และเมื่อติดแล้ว ต้องการใช้สารนั้นในประมาณมากขึ้น
๒. เกิดอาการขาดยา ถอนยา หรืออยากยา เมื่อใช้สารนั้นเท่าเดิม ลดลง หรือหยุดใช้
๓. มีความต้องการเสพทั้งทางร่างกายและจิตใจ อย่างรุนแรงตลอดเวลา
๔. สุขภาพร่างกายทรุดโทรมลง เกิดโทษต่อตนเอง ครอบครัว ผู้อื่น ตลอดจนสังคม และ ประเทศชาติ

ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายยาเสพติดใหม่
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎหมายเกี่ยวกับคดียาเสพติดใหม่ออกมาจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564
พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 โดยประกอบไปด้วย 24 มาตรา ภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีการประกาศให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 นับว่าเป็นประมวลกฎหมายลำดับที่ 8 ของประเทศไทย ซึ่งได้รวบรวมเอากฎหมายยาเสพติดที่เดิมกระจายอยู่หลายฉบับ ให้บูรณาการอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน โดยประมวลกฎหมายดังกล่าวประกอบไปด้วย 186 มาตรา แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ภาค ได้แก่
ภาค 1: การป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด
ภาค 2: การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด และ
ภาค 3: บทกำหนดโทษ
นอกจากนี้ กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดอีกฉบับหนึ่งที่ออกมาคู่กันคือ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติดเดิม ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติด โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้ประกอบไปด้วย 10 มาตรา และมีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 9 ธันวาคม 2564