16 กันยายน วันโอโซนโลก (WORLD OZONE DAY)

|

16 กันยายน วันโอโซนโลก (World Ozone Day) โอโซน เกิดจากการรวมตัวกันของออกซิเจน 3 อะตอม อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากมนุษย์สร้างขึ้น โอโซนมีทั้งประโยชน์และโทษ ขึ้นกับตำแหน่งในชั้นบรรยากาศ โอโซนในชั้นสตราโทสเฟียร์ (Stratosphere Ozone) ทำหน้าที่กรองรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ โอโซนในชั้นโทรโพสเฟียร์ (Troposphere Ozone) หรือ โอโซนภาคพื้นดิน (Ground Level Ozone) ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ควันไอเสียรถยนต์ หรือจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งโอโซนในชั้นนี้ถือเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย และถือเป็นก๊าซเรือนกระจก ที่เพิ่มความร้อนบนพื้นผิวโลกอีกด้วย วิธีปกป้องโอโซนชั้นสตราโทสเฟียร์ ง่ายๆ เช่น การปลูกต้นไม้ การเดินทางด้วยรถสาธารณะ การลดขยะและลดของเสียให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยปกป้องโอโซน สิ่งมีชีวิต และโลกของเราไปพร้อมๆกัน

แหล่งที่มา: United States Environmental Protection Agency National Geographic

ความเป็นมาของวันโอโซนโลก 

          ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาได้มีการนำสารเคมีซีเอฟซี หรือคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC : Chlorofluorocarbon) จำนวนมากมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็น (เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ) และอุตสาหกรรมการผลิตโฟม ทำให้มีซีเอฟซีระเหยขึ้นสู่บรรยากาศ และไปทำปฏิกิริยากับก๊าซโอโซน ทำให้ก๊าซโอโซนถูกทำลาย จนมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว 

          นอกจากนี้ซีเอฟซียังสลายตัวได้ยาก จึงตกค้างในบรรยากาศได้ยาวนาน ทำให้ก๊าซโอโซนถูกทำลายได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย เมื่อก๊าซโอโซนลดน้อยลงก็จะทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตเข้าสู่พื้นโลกได้มาก จึงเป็นอันตรายต่อมนุษย์อย่างมาก โดยเฉพาะการเกิดโรคมะเร็งที่ผิวหนัง ดังนั้น การกำหนดให้มีวันโอโซนโลกขึ้น ก็เพื่อเป็นการพิทักษ์บรรยากาศชั้นโอโซน 

          นานาประเทศได้ร่วมกันจัดทำอนุสัญญาการป้องกันชั้นบรรยากาศโอโซน ขึ้นในปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) เรียกว่า “อนุสัญญาเวียนนา และพิธีสารว่าด้วยการเลิกใช้สารทำลายชั้นโอโซน” และจัดให้ลงนามใน “พิธีสารมอนทรีออล” ขึ้นในวันที่ 16 กันยายน ปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) เป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญาเวียนนา ดังนั้น องค์การสหประชาชาติ จึงได้ประกาศให้วันที่ 16 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันโอโซนโลก” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา 

          สาระสำคัญของอนุสัญญาเวียนนานับว่าเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มุ่งมั่นในการพิทักษ์ชั้นโอโซน และเป็นเครื่องมือทางกฎหมายข้อแรก ที่กลายเป็นรูปแบบของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ปัจจุบันมีประเทศที่ร่วมให้สัตยาบันแล้วรวม 191 ประเทศ นั่นหมายถึง ชุมชนโลกส่วนใหญ่ได้พร้อมใจกันที่จะพิทักษ์ชั้นโอโซน 

          สำหรับประเทศไทย ได้ร่วมลงนามในพิธีสารนี้ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2531 และให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 มีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2532 

          ผลของพิธีสารในขั้นต้น สารเคมีที่ถูกควบคุม คือ สาร CFC (Chlorofluorocarbon) รวม 5 ชนิด และสารฮาลอน (Halon) 3 ชนิด รวมสารควบคุมทั้งสิ้น 8 ชนิด ซึ่งสารเหล่านี้ถูกใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น สารทำความเย็นในตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ใช้เป็นก๊าซสำหรับเป่าโฟม และเป็นฉนวนในโฟม รวมทั้งใช้เป็นตัวทำละลายในการทำความสะอาด ล้างคราบไขมันสิ่งสกปรกในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่สารที่อยู่ในกระป๋องสเปรย์  ส่วนสารฮาลอนใช้เป็นสารดับเพลิงในอุปกรณ์ป้องกันและระงับอัคคีภัย ซึ่งการใช้สาร CFC ก็มีมากในอุตสาหกรรม นั่นคืออุตสาหกรรมยิ่งพัฒนา ก็จะมีการทำลายโอโซนกันมากเท่านั้น 

เป้าหมายของการกำหนดวันโอโซนโลก

          1. เพื่อกระตุ้นให้ประเทศปฏิบัติต่ออนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

          2. เพื่อช่วยกันลดการใช้สารซีเอฟซี และสารฮาลอน ซึ่งเป็นตัวทำลายบรรยากาศโอโซนในชั้นบรรยากาศ 

เราจะทำอะไรเพื่อช่วยโลกได้บ้าง

          แม้จะมีสนธิสัญญาเพื่อลดและเลิกการใช้สาร CFC แล้ว แต่สาร CFC ยังจำเป็นต่ออุตสาหกรรมบางชนิด จึงยังมีการใช้ CFC กันอยู่ต่อไป ก๊าซโอโซนก็ยังคงถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบเป็นภาวะโลกร้อนอย่างที่มนุษย์เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ เราในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของโลกจะสามารถช่วยลดสาร CFC ได้โดย

          – เลือกซื้อ และใช้เครื่องปรับอากาศที่มีสัญลักษณ์ Non CFCs

          – หมั่นตรวจเช็กระบบแอร์รถยนต์ในอู่ที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งหมั่นล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศในบ้าน

          – ตู้เย็นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกชนิดหนึ่งที่ปล่อยสาร CFC ที่จะออกมาทำลายชั้นโอโซนได้ ดังนั้น ควรเปลี่ยนตู้เย็นที่ใช้มานานกว่า 10 ปี และไม่เปิดตู้เย็นบ่อย เพราะจะทำให้ระบบทำความเย็นทำงานหนัก

          – เลิกใช้อุปกรณ์ที่เป็นลักษณะกระป๋องสเปรย์ รวมทั้งวัสดุที่ทำจากโฟมทั้งหลาย ซึ่งมีสาร CFC เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิต และวัสดุเหล่านี้ยังย่อยสลายได้ยากอีกด้วย